ห้องปฏิบัติการนโยบาย Policy lab

บทความโดย นายอมรชัย บ้านเมือง นักวิเคราะห์นโยบายเเละเเผนชำนาญการ

ปัจจุบันภาครัฐอยู่ท่ามกลางบริบทของโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนโลกไปสู่ยุคใหม่ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนและสังคม พร้อมกันนั้นภาครัฐยังต้องเผชิญหน้าวิกฤติที่รุนแรง ปัญหาที่มีความซับซ้อนยากแก่การแก้ไข (wicked problems) เป็นปัญหาที่ไม่สามารถหารากเง้าของปัญหาได้อย่างชัดเจน สร้างผลกระทบต่อคนจำนวนมาก เมื่อต้องการแก้ไขต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลและหน่วยงานจำนวนมากอย่าง อย่างเช่น ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาโลกร้อน เป็นต้น ความต้องการของประชาชนที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ส่งผลให้การทำงานและการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐทำได้ยากมากขึ้น ภาครัฐซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศร่วมกับทุกภาคส่วนไม่สามารถใช้วิธีการทำงานแบบเดิมไปตอบโจทย์ใหม่นี้ได้อีกต่อไป ดังนั้น ความท้าทายที่สำคัญของภาครัฐในปัจจุบันคือ จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร และต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะสามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วทันการณ์

          แนวคิดหนึ่งที่หลายประเทศนำมาใช้ในคือ ห้องปฏิบัติการนโยบาย (Policy Lab) แพลต์ฟอร์มในการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเปิดพื้นที่การทดลองและสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมนโยบายใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนและความท้าทายภายใต้สภาวะ disruption โดยห้องปฏิบัติการนโยบายแห่งแรกตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) ที่ประเทศเดนมาร์ก ภายใต้กระทรวงธุรกิจ (Ministry of Business Affair) ใช้ชื่อว่า “Mind Lab” มีคณะทำงานประมาณ 7-15 คน จากความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ มีจุดประสงค์เพื่อออกแบบการพัฒนานโยบายและการให้บริการสาธารณะใหม่ โดยเปิดโอกาสและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนและภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายให้มากขึ้น ขั้นตอนการปฏิบัติของ Mind Lab เริ่มจากการหาประเด็นสำคัญที่ต้องการแก้ไขพัฒนา จากนั้นจึงทำการศึกษากลุ่มผู้ใช้งานเพื่อรวบรวมข้อมูลเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ คิดค้น พัฒนาหาแนวทางการแก้ไขใหม่ๆ ผ่านการใช้กระบวนการ Design Thinking และทำการทดสอบเพื่อดูผลลัพธ์ พร้อมทั้งประเมินผล ซึ่งช่วยทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวัฒนธรรมการทำงานภายในภาครัฐ

          ในปี พ.ศ. 2557 (ค.ศ. 2014) ประเทศอังกฤษก็มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการนโยบายเช่นกัน ในชื่อ  Policy Lab อยู่ภายใต้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (The UK Cabinet Office) เพื่อช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาความท้าทายต่างๆ ของอังกฤษโดยเน้นปฏิบัติการใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การหาแนวทางการแก้ปัญหาและจัดทำนวัตกรรมนโยบาย 2) การพัฒนาทักษะความรู้ด้านนโยบายให้กับประชาชน และ 3) การสร้างแรงบันดาลใจในการคิดนวัตกรรมนโยบายผ่านการทดลองและทดสอบ

          สำหรับห้องปฏิบัติการนโยบายที่มีชื่อเสียงในฝั่งเอเชียอย่างประเทศสิงคโปร์ ได้มีการจัดตั้งห้องทดลองทางนโยบายชื่อ The Human Experience Lab (THE Lab) ขึ้นในปี 2555 อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีของสิงค์โปร์ โดยวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้เป็นหน่วยงานหลักในการออกแบบและปรับปรุงนโยบายและบริการสาธารณะโดยใช้กระบวนการ Design Thinking ที่เน้นการคำนึงถึงผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง (Human-Centric Approach) และเพื่อพัฒนาองค์กรภาครัฐให้สามารถดำเนินนโยบายและให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริง ปัจจุบันแนวคิดห้องปฏิบัติการทางนโยบายได้เริ่มถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ มีประมาณกว่า 100 แห่ง เช่น Public Sector Innovation Units ในออสเตรเลีย, The Policy Lab Digital Work & Society ในเยอรมนี

          ในส่วนของประเทศไทยการสร้างห้องปฏิบัติการนโยบายถูกบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาล และได้เริ่มมีการจัดตั้ง Policy Lab มาใช้ในการวางแผนในหลายๆ หน่วยงาน เช่น โครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation Lab) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) Thailand Policy Lab ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ DES Policy Lab ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ Thailand Innovation Policy Accelerator (TIPA) ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ Policy Lab of GISTDA ห้องปฏิบัติการนโยบายของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

จุดเน้นของห้องปฏิบัติการนโยบาย

ลักษณะสำคัญของห้องปฏิบัติการนโยบายมีจุดเน้นใน 3 เรื่อง ดังนี้

          1. ห้องปฏิบัติการนโยบายเน้นการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Governance) ซึ่งเดิมประชาชนจะมีส่วนร่วมกับภาครัฐแค่เพียงการรับทราบข่าวสาร การให้ความเห็นผ่านช่องทางเวทีต่างๆ หรือการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชุดที่ภาครัฐตั้งขึ้น แต่ห้องปฏิบัติการนโยบายเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการทำงานของภาครัฐ ที่สนับสนุนการสร้างศักยภาพและโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐด้วยกันหรือเอกชน และประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของนโยบายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและลงมือออกแบบและกำหนดนโยบายโดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง

          2. ห้องปฏิบัติการนโยบายเน้นการทำงานอย่างคล่องตัวและยืดหยุ่น โดยส่วนมากมักเป็นหน่วยงานย่อยที่มีอิสระในการทำงาน มีขนาดเล็ก เป็นที่รวบรวมคนทำงานจากหลากหลายหน่วยงานเพื่อทำงานข้ามหน่วยงาน และทำงานร่วมกันแบบเครือข่ายที่เต็มไปด้วยผู้เกี่ยวข้องกับนโยบาย ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่าง ๆ ช่วยสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และที่สำคัญคือมีรูปแบบการทำงานแบบอไจล์ (Agile) คือ มีระบบการตัดสินใจที่รวดเร็ว ติดตามประเมินผลและให้ข้อมูลย้อนกลับมาได้อย่างรวดเร็วทำให้คนในองค์กรเกิดการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้มีการปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลงได้หากแนวทางอื่นสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีกว่า

          จะเห็นได้ว่าห้องปฏิบัติการนโยบายน่าจะเป็นคำตอบที่ระบบราชการพยายามค้นหาอยู่ นั่นคือ การเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานได้อย่างอิสระคล่องตัว เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในขั้นการลงมือทำกำหนดออกแบบนโยบาย และสามารถสร้างนวัตกรรมภาครัฐตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เมื่อผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างปัญหาให้ภาครัฐต้องรับมือกับวิกฤติที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนทำให้การทำงานแบบเดิม ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป การจัดตั้งหน่วยงานห้องปฏิบัติการนโยบายในระดับกระทรวงเพื่อช่วยสนับสนุนการบริหารราชการ สร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ ผลิตนวัตกรรมเชิงนโยบายออกมาสู้กับปัญหาจึงน่าจะเป็นโอกาสทางรอดหนึ่งของสถานการณ์ในปัจจุบัน

          3. ห้องปฏิบัติการนโยบายเน้นการสร้างนวัตกรรมภาครัฐ นำเครื่องมือและแนวคิดใหม่ๆมาช่วยในออกแบบนโยบายและบริการใหม่ อย่างเช่น การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ซึ่งจะเป็นแนวทางในการคิดหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างได้ผลควบคู่กับพื้นฐานการออกแบบที่ยึดให้คนหรือประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Human-Centered Design) ประกอบไปการทําความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง  (Empathize)  และการตั้งกรอบโจทย์ (Define) เป็นขั้นตอนแห่งการสร้างความเข้าใจปัญหาเข้าใจผู้ใช้ เพื่อตั้งเป้าหมายของนโยบาย การสร้างความคิด (Ideate) คือขั้นตอนในการใช้ความคิดสร้างสรรค์และมุมมองอย่างหลากหลาย เพื่อสร้างคําตอบหรือทางเลือกวิธีแก้ปัญหาใหม่ และการสร้างต้นแบบ (Prototype) การทดสอบ (Test)  คือขั้นตอนทดสอบแนวคิดกับประชาชนตัวแทนกลุ่มเป้าหมายและพัฒนาต้นแบบเพื่อให้ได้นวัตกรรมเชิงนโยบายที่มีคุณภาพ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริงก่อนนํานโยบายไปปฏิบัติ

          นอกจากการคิดเชิงออกแบบแล้ว ยังมีเครื่องมือหรือวิธีการอื่นๆ การมองอนาคต (Foresight) ช่วยให้การออกแบบนโยบายเห็นบริบทสภาพแวดล้อมในอนาคต เห็นถึงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อนโยบาย ช่วยให้สามารถออกแบบนโยบายให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลง การสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายจึงต้องทำไปพร้อมกับคำนึงถึงฉากทัศน์ภาพอนาคตควบคู่ไปด้วย และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก data analytics เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ห้องปฏิบัติการนโยบายนำมาใช้เพื่อสนับสนุน data-driven policy การใช้ข้อมูลจะสามารถเห็นถึงพฤติกรรม ความเชื่อมโยง และการเปลี่ยนแปลง ทำให้เข้าใจถึงรากของปัญหาที่แท้จริงและนำไปสู่การออกนโยบายที่มีลักษณะเฉพาะและตรงจุดมากขึ้น

หมายเหตุ บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด