เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้วย “การมองอนาคต (Foresight)”

บทความโดย นายอมรชัย บ้านเมือง นักวิเคราะห์นโยบายเเละเเผนชำนาญการ สำนักนโยบายเเละยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

มนุษย์ให้ความสำคัญกับการมองไปสู่อนาคตที่ยังมาไม่ถึง แม้จะยังไม่เกิดขึ้นแต่สมองของมนุษย์มีศักยภาพ “สร้างอนาคต” ขึ้นจากข้อมูลประสบการณ์ที่สะสมมา การคิดเกี่ยวกับอนาคตจึงส่งผลและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ มนุษย์จึงเลือกสร้างอนาคตที่พึ่งประสงค์ให้เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็หาทางป้องกันเตรียมรับมือกับอนาคตที่ไม่พึงประสงค์ด้วย การเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้สภาวะ disruption ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงในปัจจุบัน ทำให้หน่วยงานและองค์กรจำต้องเตรียมพร้อมเพื่อจัดการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งโลกมีซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร การมองอนาคตอย่างลึกซึ้งและเชื่อมโยงจากหลากหลายมิติยิ่งจำเป็น ดังนั้น เราจึงต้องอยากรู้ว่าโลกในอนาคตนั้นจะเป็นอย่างไร และเราจะปรับตัวให้เข้ากับสภาวะในโลกอนาคตอย่างไร เพราะการเตรียมตัวรับมือกับอนาคตที่ดีที่สุดคือการคิดและสร้างอนาคตตั้งแต่ปัจจุบัน

ในปัจจุบันมีการค้นคิดเครื่องมือที่จะมาใช้สร้างความสามารถในการมองอนาคต ให้กับผู้บริหารได้เห็นภาพอนาคตภายใต้ฉากทัศน์ที่มีสภาพแวดล้อมหลากหลาย ก็จะเป็นเรื่องง่ายในการไปออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์เพื่อไปสู่เป้าหมายขององค์กร การมองอนาคต (Foresight)” เป็นกระบวนการที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบที่ต้องใช้ความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และจินตนาการ (Imagination) อย่างเป็นระบบในการมองไปในอนาคตของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเอื้อประโยชน์สูงสุด การคาดการณ์อนาคตไม่ใช่การทำนาย (Forecast) ที่สันนิษฐานอนาคตเพียงรูปแบบเดียว หลักสำคัญของการมองอนาคตคือ การดำเนินการที่เป็นระบบ มีขั้นตอนชัดเจน และมีส่วนร่วมจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เข้าใจถึงแรงผลักดันต่างๆทั้งที่เห็นชัดและที่ยังไม่เห็นชัด ซึ่งจะกำหนดรูปแบบของอนาคต และทำให้เห็นลู่ทางที่จะต้องกระทำในวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น การมองอนาคตจะช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรต่างๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะองค์กรสามารถจัดสรรตัวเลือกการตัดสินใจได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น ไม่เสียเวลาและทรัพยากรไปกับสิ่งที่เป็นประโยชน์น้อยในอนาคต และไม่พลาดโอกาสที่จะเกิดขึ้น การมองอนาคตจึงเปรียบเสมือนการวางแผนการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภายใต้ความเป็นไปได้เกือบทั้งหมด ซึ่งมีเรื่องของการให้ความสำคัญกับการวางกรอบระยะเวลาจึงต้องมองให้ยาว แต่ไม่ได้เป็นการมองยาวแบบไร้จุดหมาย

การมองอนาคตมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 เรื่อง เรื่องแรก มุมมองต่ออนาคต (Perspectives about the Futures) การมองอนาคตไม่ใช่แค่การคาดการณ์อนาคตแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทําข้อเสนอแนะสําหรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในปัจจุบันให้เป็นไปตามอนาคตที่คาดหวัง สอง การมองอนาคตมีนัยยะต่อการวางแผน (Implications for Planning) แม้การมองอนาคตไม่ใช่การวางแผนยุทธศาสตร์ แต่สามารถเป็นข้อมูลประเด็นสําคัญให้แก่กระบวนการวางแผนยุทธศาสตร์และกําหนดกลยุทธ์ ซึ่งจะทําให้ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์มีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น มีการเรียงลําดับประเด็นสําคัญก่อนหลัง ระบุความเสี่ยงในอนาคต และสุดท้ายกระบวนการตัดสินใจร่วม (Participatory and Deliberative Process) การมองอนาคตเน้นการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีหลายประเทศได้นำเอาการมองอนาคตมาใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศแล้วทำให้มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ประเทศสิงคโปร์เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการนำเอาการมองอนาคต (Foresight) มาใช้ในการวางแผนพัฒนาประเทศตั้งแต่ปี 2523 โดยเริ่มจากวางแผนในการจัดผังเมืองที่อยู่อาศัยของประชาชน เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากที่ต้องจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชนเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่จำกัดของประเทศ ทำให้เกิดหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้ขึ้นมาคือ Housing Development Board การจัดการพื้นที่สีเขียวของประเทศเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยโครงการ The City in a Garden นอกจากนั้นยังนำเอาการมองอนาคตมาใช้ในการวางแผนการทำงานของรัฐบาลช่วยให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถมองอนาคตได้แม่นยำมาก และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งนี้ สิงคโปร์ยังพัฒนาเครื่องมือการวิเคราะห์อนาคต (Foresight Tools) ขึ้นเป็นของตนเองในชื่อ “Scenario Planning Plus” (SP+) ตัวอย่างหนึ่งของการสร้างฉากทัศน์ที่ประสบความสำเร็จที่เห็นได้ชัดคือ ฉากทัศน์เมื่อเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติจนไม่สามารถออกจากบ้านได้ เป็นที่มาของการเรียนการสอนออนไลน์ การทำงานแบบ Work From Home ในทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้คนสิงคโปร์สามารถปรับตัวในการดำรงชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

มีหลายประเทศได้นำเอาการมองอนาคตมาใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศแล้วทำให้มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ประเทศสิงคโปร์เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการนำเอาการมองอนาคต (Foresight) มาใช้ในการวางแผนพัฒนาประเทศตั้งแต่ปี 2523 โดยเริ่มจากวางแผนในการจัดผังเมืองที่อยู่อาศัยของประชาชน เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากที่ต้องจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชนเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ที่จำกัดของประเทศ ทำให้เกิดหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้ขึ้นมาคือ Housing Development Board การจัดการพื้นที่สีเขียวของประเทศเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยโครงการ The City in a Garden นอกจากนั้นยังนำเอาการมองอนาคตมาใช้ในการวางแผนการทำงานของรัฐบาลช่วยให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถมองอนาคตได้แม่นยำมาก และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งนี้ สิงคโปร์ยังพัฒนาเครื่องมือการวิเคราะห์อนาคต (Foresight Tools) ขึ้นเป็นของตนเองในชื่อ “Scenario Planning Plus” (SP+) ตัวอย่างหนึ่งของการสร้างฉากทัศน์ที่ประสบความสำเร็จที่เห็นได้ชัดคือ ฉากทัศน์เมื่อเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติจนไม่สามารถออกจากบ้านได้ เป็นที่มาของการเรียนการสอนออนไลน์ การทำงานแบบ Work From Home ในทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้คนสิงคโปร์สามารถปรับตัวในการดำรงชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างเครื่องมือสำหรับมองอนาคต เทคนิคเดลฟาย (Delphi Technique) เป็นเทคนิคที่ใช้อย่างแพร่หลายในงานทางด้านสังคมศาสตร์ เป็นการสอบถามภาพอนาคตจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหรือนักบริหารที่มีประสบการณ์และเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น โดยวิธีระดมความคิดเห็นซึ่งผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ และทำซ้ำเพื่อกลั่นกรองความคิดเห็นอย่างละเอียดรอบคอบ จนได้ภาพของสิ่งที่ควรเป็นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นได้สำหรับอนาคต ขั้นตอนคือ มีการกำหนดหัวข้อให้ชัดเจน กำหนดกลุ่มตัวอย่างของผู้เชี่ยวชาญที่จะให้ความเห็น จากนั้นจึงทำการเก็บข้อมูล โดยเก็บข้อมูลทั้งหมด 3 รอบ รอบแรกเริ่มจากการใช้แบบสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้วยคำถามปลายเปิด เก็บภาพกว้างของประเด็น รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเช่นงานวิจัย จากนั้นนำคำตอบมาวิเคราะห์ และสังเคราะห์เป็นประเด็นที่ชัดเจนขึ้น จากนั้นรอบที่ 2 นำประเด็นที่ได้มาให้ผู้เชี่ยวชาญให้ระดับความเห็นด้วย (rating scale) ต่อแนวคิดที่ได้มาจากการสังเคราะห์คำถามปลายเปิดรอบที่ 1 พร้อมทั้งให้เหตุผล รอบที่ 3 นำระดับคะแนนที่ได้มาคำนวณค่าทางสถิติเพื่อดูความสอดคล้องของผู้เชี่ยวชาญ ทำทวนซ้ำพร้อมข้อมูลจากรอบก่อนหน้าเป็นลำดับไปเรื่อยเช่นนี้จนได้ความคิดเห็นที่ค่าสถิติบ่งชี้ว่าได้ความคิดเห็นที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดเห็นตรงกัน ข้อดีของการใช้เทคนิคเดลฟาย คือสามารถดำเนินการรวบรวมหาความสอดคล้องของความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากได้โดยไม่ต้องจัดประชุม ซึ่งทำให้สะดวกในการดำเนินการและมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ในประเทศญี่ปุ่นมีการใช้การมองอนาคตด้านเทคโนโลยีของประเทศ (Technology Foresight) ทุก 5 ปี เพื่ออัพเดทข้อมูลใหม่ๆ โดยการทำแต่ละครั้งจะเริ่มจากการสํารวจความต้องการใช้เทคโนโลยีใหม่ ศึกษาเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว สร้างสถานการณ์จําลองในการพัฒนา และใช้เทคนิคเดลฟายสอบถามผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามากกว่า 2,000 คน ซึ่งจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สําหรับนํามาประกอบการมองอนาคตต่อไปท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่มีความซับซ้อนและไม่แน่นอน เทคนิคการสร้างฉากทัศน์ การสร้างมโนภาพเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตที่มีความเป็นไปได้ (probability) 3-5 ฉากทัศน์ (scenario) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหลากหลายรูปแบบ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลหรือมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน พิจารณาโดยให้ความสำคัญกับไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น (uncertainty) ในประเทศไทยมีการมองอนาคตมีการใช้เทคนิคการสร้างฉากทัศน์ เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI ทำการศึกษาภาพอนาคตในปี 2035 : ที่ดิน พลังงาน และน้ำในประเทศไทย การสร้างฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย 2035 เพื่อประมาณการอัตราเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจรายสาขา อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญที่มีประโยชน์ต่อการประมาณการความต้องการในส่วนอื่นๆ ต่อไป ได้แก่ การวิเคราะห์ความต้องการน้ำ ความต้องการทางด้านพลังงาน และอุปสงค์การใช้ที่ดินของประเทศไทย ในส่วนสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ศึกษาภาพอนาคตผลกระทบจากโควิด เพื่อให้เห็นภาพอนาคตของระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากผลกระทบจาก COVID-19 จะมีหน้าตาอย่างไร สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ศึกษาอนาคตของงาน (กรณีศึกษาในภาคการธนาคาร) เพื่อวิเคราะห์อนาคตของงานที่เป็นบริบทของประเทศไทยและเสนอแนวทางรองรับที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

หากกระทรวงการคลังนำการมองอนาคตมาประยุกต์ใช้ประกอบการวางแผนนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของกระทรวง จะทำให้กระทรวงการคลังมีความได้เปรียบ เพราะนอกจากจะทำให้กระทรวงการคลังสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือลดทอนความเสียหาย จากเหตุการณ์ไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้แล้ว และยังสามารถใช้หลักการมองอนาคตเป็นเครื่องมือในการมองหาสัญญาณอ่อนๆ ที่อาจกลายเป็นสัญญาณที่แข็งแกร่งจนเป็นโอกาสหรือแนวโน้ม (Trend) ให้กระทรวงการคลังสามารถก้าวเข้าสู่เป้าหมายได้รวดเร็วขึ้นและมีกลยุทธ์ มาตรการ เครื่องมือรอบรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

———————————————————————————————————————————–

หมายเหตุ บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด