ความท้าทายของภาครัฐที่ทำให้ต้องเร่งสร้างนวัตกรรม

4 ธันวาคม 2563

นายอมรชัย บ้านเมือง
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาทุกท่านคงคุ้นชินกับคำว่า “นวัตกรรม (Innovation)” เป็นอย่างดี นวัตกรรมเป็นความปกติใหม่ (New normal) ของหน่วยงานภาครัฐในปัจจุบัน ผู้เขียนเองให้ความหมายของ นวัตกรรม ได้ว่า

“การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซึ่งมีประโยชน์ ได้รับการยอมรับ
และสามารถสร้างผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก”

เราอาจจะตั้งคำถามว่าทำไมหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีขอบเขตความรับผิดชอบของตนที่ชัดเจน การทำงานอย่างมีขั้นตอนระเบียบแบบแผน ถึงถูกเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานใหม่ วิธีการบริการใหม่ทั้งที่เดิมก็ทำให้งานสำเร็จได้ และทำไมหน่วยงานภาครัฐถึงต้องสร้างนวัตกรรมทั้งในระดับนโยบาย ระดับการทำงานและการให้บริการด้วย บทความนี้จึงจะขอพาทุกท่านทำความเข้าใจ บริบทความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ อันเป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมอย่างจริงจัง

ผู้เขียนขอเสนอ 4 ความท้าทายของภาครัฐที่ทำให้ต้องเร่งสร้างนวัตกรรม

1. ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของระบบราชการ ด้วยโครงสร้างของภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ ซับซ้อน มีบุคลากรจำนวนมาก งบประมาณที่ไม่เพียงพอ ทำให้การบริหารงานไม่คล่องตัว และไม่สอดคล้องกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ภาครัฐจึงมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพการบริหารงานอยู่เสมอ ยิ่งทุกวันนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 เป็นวิกฤติร้ายแรงส่งผลกระทบถึงประชาชนทุกคน แรงงานจำนวนมากตกงาน หลายธุรกิจต้องปิดกิจการลง ภาครัฐเองก็ได้รับผลกระทบทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การให้บริการประชาชน รวมถึงยังต้องมีบทบาทนำในการกอบกู้วิกฤติ ภาครัฐจึงถูกท้าทายถึงประสิทธิภาพความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้เพียงใด

2. การรักษาสมดุลที่หลากหลาย ประเทศไทยที่มีความสลับซับซ้อนของความต้องการจากภาคส่วนต่างๆ ที่หลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างเช่น เรามุ่งเน้นการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็ต้องการให้ชุมชนยังคงรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมเอาไว้ เราอยากได้ความมั่นคงความปลอดภัยสาธารณะ แต่เราก็ต้องคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนด้วย

“เราต้องการมุ่งเน้นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องรักษาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ให้ขยายตัวตามเศรษฐกิจ ภาครัฐจึงจะต้องเป็นผู้สร้างความสมดุลให้กับทุกภาคส่วน การพยายามรักษาสมดุลที่หลากหลายจึงเป็นความท้าทายที่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหน่วยงานภาครัฐ”

3. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญที่ถูกกล่าวถึงมากในปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำของรายได้ สินทรัพย์ และโอกาส ระหว่างคนรวยกับคนจน ความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน สิทธิและโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ การกระจุกตัวของการครอบครองและเข้าถึงทรัพยากรทำให้เกิดภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ทั้งนี้ สาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของภาครัฐในอดีตเอง ภาครัฐจึงต้องพัฒนาประเทศ โดยไม่เน้นเฉพาะอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับการเปิดให้ประชาชนมีสิทธิและเข้าถึงบริการของรัฐให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนภายในประเทศด้วย

4. ความคาดหวังของประชาชนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ความสำเร็จของบริษัทเอกชนในการบริหารงานและการบริการลูกค้ามักเป็นสิ่งที่ประชาชนนำมาเปรียบเทียบกับการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเสมอ แม้ว่าภาครัฐจะนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยยกระดับการให้บริการประชาชน แต่ก็มีประชาชนอีกจำนวนมากยังเข้าไม่ถึง นั่นอาจเป็นเพราะความยุ่งยากของขั้นตอน ความไม่พร้อมของอุปกรณ์เครื่องมือ หรือความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยีของประชาชน ทำให้ ภาครัฐต้องทบทวนและออกแบบการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐให้ตอบสนองโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันสมัย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ เวลา หรือข้อจำกัดที่ตัวผู้รับบริการ

จากความท้าทายทั้ง 4 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้น คงเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญ ที่ทำให้ภาครัฐต้องหันกลับมาพิจารณาการทำงานในปัจจุบันว่าตอบสนองต่อบริบทที่เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน แล้วเครื่องมือหรือแนวทางที่ผู้เขียนจะเสนอคือการเร่งศึกษาและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการ สร้างความพึงพอใจสนองตอบต่อความคาดหวังของประชาชน มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ รักษาความสมดุลและความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ นวัตกรรมไม่ได้เป็นเพียงคำที่ถูกใช้เพื่อสร้างความสวยหรูทันสมัยเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ต้องการ ลงมืออย่างจริงจังเพื่อสร้างความแตกต่างขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในภาครัฐ

————————————————————————————————————————–

บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด