การปรับตัวของกระทรวงการคลังในยุคโควิด

บทความโดย
นายอมรชัย บ้านเมือง
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดมหันตภัยส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในทุกประเทศทั่วโลก ทั้งด้านสุขภาพทำให้มีผู้คนเจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ในส่วนของประเทศไทยแม้ว่าจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีในระดับโลก แต่คนไทยก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตไปจากเดิม สร้างวิถีความปกติใหม่ (New normal) เพื่อป้องกันตนเองให้มีความปลอดภัย และด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบจากการปิดเมือง (Lock Down) และการปรับรูปแบบการใช้ชีวิต ส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ประสบปัญหาในการทำธุรกิจ กลุ่มผู้ที่ทำงานรับจ้างจำนวนมากต้องตกงาน ประชาชนต้องรัดเข็มขัดในการใช้จ่ายโดยการลดทอนการบริโภคลง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้ขึ้น กระทรวงการคลังซึ่งถือเป็นเสาหลักด้านการคลังและเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรสามารถทำงานตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงในสถานการณ์ดังกล่าว

การปรับตัวในด้านการทำงาน

วิกฤติโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป การทำงานที่บ้าน (Work from Home) และการทำงานทางไกล (Remote Working) การประชุมออนไลน์ การเรียนออนไลน์ รวมทั้งการซื้อขายของผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นมาตรการสำคัญ ตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)  เพื่อดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของข้าราชการและบุคลากรในสังกัด

กระทรวงการคลัง พยายามใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดสนับสนุนความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน โดยจัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าอาคารทุกจุด ทำความสะอาดสถานที่อย่างเข้มข้นมากกว่าเดิม จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ในด้านประสิทธิภาพการทำงานได้เพิ่มความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการทำงาน ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับกระบวนการทำงาน การให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) การเปลี่ยนการประชุม การสัมมนาต่างๆ การพัฒนาทักษะของบุคลากรของกระทรวง โดยใช้ผ่านออนไลน์เป็นหลัก หรือการปรับเปลี่ยนบริการจากเดิมให้เป็นรูปแบบออนไลน์ เช่น การขายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่น วอลเล็ต สบม. ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งเป็นการจำหน่ายพันธบัตรแบบดิจิทัลครั้งแรกของไทย ถึงแม้ว่าจะปรับรูปแบบการทำงานและการให้บริการเป็นรูปแบบดิจิทัล แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการส่งเสริม Digital Literacy หรือทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐาน และอุปกรณ์เครื่องมือให้กับบุคลากรและประชาชนผู้รับบริการ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นอกจากการปรับตัวด้านการทำงานแล้ว การปรับตัวด้านนโยบายก็เป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังให้ความสำคัญควบคู่กัน เพื่อความพยายามรักษาและฟื้นฟูให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถผ่านพ้นวิกฤติความยากลำบากไปได้

การปรับตัวในด้านนโยบาย

กระทรวงการคลัง ได้ตระหนักและเข้าใจถึงสภาพความลำบากของประชาชน และไม่อาจทนนิ่งดูดายได้จึงต้องเป็นผู้นำในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวกลับมาได้ โดยต้องกำหนดนโยบายทางการเงินการคลังช่วยเหลือดูแลเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ในส่วนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงการคลังได้มีมาตรการชดเชยรายได้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 “เราไม่ทิ้งกัน” โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน และในการระบาดรอบใหม่ “เราชนะ” โดยการสนับสนุนเงินทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท จนครบวงเงินทั้งหมด 7,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง (Paotang) รวมทั้งมาตรการตั้งแต่การระบาดครั้งแรก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต่อเนื่องมาถึงการระบาดรอบใหม่ อาทิ โครงการ “คนละครึ่ง” สิทธิประโยชน์โดยรัฐช่วยจ่าย 50% หรือ ครึ่งหนึ่งของจำนวนราคาสินค้า แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน ไม่เกิน 3,500 บาทต่อคน มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษี VAT และสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษี ได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน มาตรการเลื่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ออกไปถึง 31 สิงหาคม 2563 เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องเงินในกระเป๋าของประชาชน นอกจากนี้โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวให้กับประชาชนที่มีอาชีพอิสระไม่มีรายได้ประจำ ตกงาน หรือเกษตรกรที่ไม่มีรายได้ประจำ วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องมีหลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน ร้อยละ 0.10 ต่อเดือน

ในส่วนของภาคธุรกิจ กระทรวงการคลังได้มีมาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีนิติบุคคล เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนชำระภาษี มาตรการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ มาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ โดยลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย มาตรการภาษีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ SME มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถหักรายจ่ายได้ 3 เท่า มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโดยธนาคารออมสิน วงเงิน 60,000 ล้านบาท และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย วงเงิน 10,000 ล้านบาท ในส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักที่จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่หายไป ได้มีมาตรการฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศที่ซบเซาอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19  โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” สนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรม และคูปองสำหรับใช้จ่ายเป็นค่าอาหาร ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว และใช้ซื้อสินค้า OTOP โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินจาก 4.726 บาทต่อลิตร ลงเหลือ 0.20 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยลดต้นทุนของสายการบินพาณิชย์ อีกทั้งช่วยให้ประชาชนเดินทางไปต่างจังหวัดได้มากขึ้น สร้างการจ้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

“เมื่อโลกเปลี่ยนไปกระทรวงการคลังต้องคิดใหม่และปรับตัว โจทย์ที่สำคัญของกระทรวงการคลังในโลกยุคหลัง COVID-19 คือ ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน วิกฤตนี้ได้เร่งกลยุทธ์การบริหารการเปลี่ยนแปลงกระทรวงการคลัง ที่มุ่งปรับองค์กรให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัวในการทำงาน (Agile) และการทำงานในเชิงรุก เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ไม่เป็นผู้ตกกระแส และส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีดิจิทัล”

————————————————————————————————————————————-

บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด